Last updated: 21 Feb 2023 | 1269 Views |
ในการทำงานเราอาจจะเจอกับปัญหาที่ทำให้รู้สึกท้อแท้ได้ ดังนั้นการดูแลใจตัวเองด้วยการฝึกทักษะ Resilience จึงเป็นเรื่องสำคัญ เราจึงนำเทคนิคที่ช่วยฝึกทักษะดังกล่าวมาฝากกัน
Resilience แปลว่า ความสามารถในการฟื้นตัว โดยหลายคนมักใช้ในอีกความหมาย นั่นก็คือ ความสามารถในการกลับสู่สภาพเดิม หรือถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ การกลับมาฮึดสู้ สามารถปรับตัวในสถานการณ์ที่มีความตึงเครียดได้ไวในช่วงเวลาที่เราเจอเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน หรือความเปลี่ยนแปลง ซึ่ง Resilience นี้เรียกได้ว่าเป็น Competency หรือสมรรถถนะที่จำเป็นอย่างมากในยุคNew Normal แบบนี้และองค์กรหลายแห่งก็ต้องการพัฒนาคนในองค์กรให้มีความรู้ ทักษะ และความสามารถนี้ติดตัวกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้นำหรือคนในทีมก็ตาม เพราะความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน นั้นเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก มีความผันผวนสูง และเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้มนุษย์วัยทำงานอย่างเราเกิดความเครียดและรู้สึกท้อแท้จนส่งผลกับสุขภาพกายและใจโดยรวม และเกี่ยวเนื่องถึงประสิทธิภาพของการทำงาน เพราะฉะนั้นเราจึงควรฝึกทักษะในการฟื้นตัวหรือ Resilience ติดตัวไว้ อย่างน้อยก็ช่วยให้เราดูแลใจตัวเองในวันที่รู้สึกท้อแท้ได้ และความสามารถในการฟื้นตัวหรือ Resilience นั้นไม่จำเป็นต้องนำมาใช้แต่ในเรื่องงานเท่านั้น เรื่องอื่นๆ เช่นเรื่องส่วนตัว หรือความสัมพันธ์ Resilience Skill ก็ช่วยให้เราสามารถผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากได้ด้วยเช่นกัน ในบทความนี้เราจึงได้รวบรวมเทคนิคในการเสริมสร้างความสามารถดังกล่าวมาฝากกัน
เทคนิคเพิ่ม Resilience ที่จะช่วยทำให้เรารับมือกับสถานการณ์ตึงเครียดได้ง่ายขึ้น
1.) พักสมอง หยุดจดจ่อกับงานที่ทำสักพัก
เนื่องจากบทความบนเว็บไซต์ The Wellbeing Thesis ได้บอกเอาไว้ว่า ในแต่ละวันที่ต้องทำงาน การพักเบรคทั้งในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เช่น การพักเบรกกินกาแฟหรือดื่มน้ำ หรือการพักเบรกในช่วงเวลายาว เช่น การทานอาหารกลางวันล้วนมีส่วนสำคัญในการช่วยลดความเครียด และความเหนื่อยล้าจากงานที่ทำได้ เพราะฉะนั้น หากเราเริ่มรู้สึกท้อแท้ หรือแก้ปัญหาไม่ได้สักที โดยเฉพาะปัญหาที่แก้ยาก มีความซับซ้อน การพักจากงานตรงหน้าแล้วเปลี่ยนไปจดจ่อกับสิ่งอื่นๆ แทน เพื่อให้สมองได้ผ่อนคลายบ้าง คือ สิ่งแรกที่ควรทำ และการพักเบรกยังเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้าง Resilience อีกด้วย
เมื่อเราปล่อยเรื่องเครียดๆ ไว้ข้างหลังสักครู่ สมองของเราที่ทำงานมาด้วยความเหนื่อยล้าก็จะสามารถอาศัยจังหวะนี้ได้พัก เพื่อให้เกิดเกิดความผ่อนคลาย ตัวเราก็เหมือนกับได้ชาร์จแบตจนเต็ม และได้ฟื้นฟูจิตใจให้กลับมาแจ่มใส พร้อมสำหรับการทำงานหรือการคิดเพื่อแก้ปัญหาอีกครั้ง นอกจากนั้นการพักเบรกเพื่อให้สมองปลอดโปร่งยังมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เราเกิดความคิดสร้างสรรค์ หรือไอเดียแปลกใหม่ จนสามารถหาวิธีแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ด้วย เรียกได้ว่าเป็นเทคนิคที่ช่วยดูแลใจแบบ Resilience และเพิ่ม ความคิดสร้างสรรค์หรือ Creativity ให้กับมนุษย์วัยทำงานอย่างเราไปในตัวเลย
2.) มองโลกในแง่ดีเข้าไว้
เมื่อเราเจอกับความผิดพลาดหรือล้มเหลว ไม่ว่าเราจะทำงานในตำแหน่งใด เป็นหัวหน้าหรือลูกน้อง เราก็อดมีความคิดในแง่ลบไม่ได้ และยิ่งถ้าไม่ได้มีการฝึกฝนให้เกิด Resilience Skill เลยก็อาจจะทำให้มีแต่ความคิดด้านลบวนอยู่ในอ่าง คิดแบบเดิมอยู่ซ้ำๆ ยิ่งคิดยิ่งแย่ ท้อแท้ หมดกำลังใจ ซึ่งถ้าหากเราคิดซ้ำ ย้ำพฤติกรรมการคิดลบอย่างนี้อยู่บ่อยๆ ก็อาจจะส่งผลต่อสารเคมีในสมองให้มีการหลั่งฮอร์โมน Cortisol หรือ ฮอร์โมนแห่งความเครียด ออกมามากเกินไป และมันอาจจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมองของเราและมีผลต่อสุขภาพจิตของเราในที่สุด
ดังนั้น ถ้าเราฝึกมองโลกในแง่ดีบนพื้นฐานของความเป็นจริง หรือ Realistic Optimist เอาไว้ เมื่อเจอกับเหตุการณ์ที่ตึงเครียดจนเกิดความรู้สึกท้อแท้ เราก็จะสามารถดูแลใจตัวเองและผ่านมันไปได้ เพราะ Soft Skills ในด้านความสามารถในการฟื้นตัวหรือ Resilience มีเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง โดยเราสามารถฝึกฝนโดยอาจเริ่มจากเรื่องเล็กๆน้อยๆ เช่น หัวหน้าย้ายเราไปทำงานในตำแหน่งที่ไม่ถนัด แทนที่เราจะคิดว่าเราโชคร้าย หัวหน้าไม่ชอบเราจึงย้ายเราไปแบบนี้ เราสามารถลองมองถึงข้อดีของการโยกย้ายในครั้งนี้ได้ว่า อย่างน้อยก็เป็นการเปิดโอกาสให้เราได้เรียนรู้ การทำงานแบบใหม่ๆ เพื่อให้ได้ประสบการณ์และความรู้ที่เราอาจสามารถนำไปต่อยอดได้ในอนาคต
3.) ฝึกยอมรับกับความเปลี่ยนแปลง
“ความไม่แน่นอนคือความแน่นอน” คือประโยคที่ฟังดูเชยๆ แต่เป็นประโยคที่อธิบายความเป็นไปของโลกใบนี้ได้เป็นอย่างดี ในชีวิตการทำงานของเราหรือแม้แต่ในชีวิตส่วนตัว เราก็มักจะเจอกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันอยู่บ่อยๆ ในแง่ของการทำงานองค์กรแต่ละแห่งนั้นก็ต้องมีการปรับตัว เพื่อการแข่งขันในเชิงธุรกิจ และต้องมีการพัฒนาอยู่เรื่อยๆ ดังนั้น การฝึกตัวเองให้มีความยืดหยุ่นหรือ Adaptability ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของความสามารถในการฟื้นตัวหรือ Resilience ก็จะช่วยให้เราสามารถปรับตัวและรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ง่ายขึ้น
ดร. Elizabeth Scott ผู้เขียนบทความเรื่อง How to Adapt to a Stressful Situation ได้เขียนในบทความไว้ว่า “เราจะสามารถปรับตัวกับสถานการณ์ตึงเครียดได้ หากเรารู้จักที่จะเปลี่ยนความคิด” เพราะความคิดคือจุดเริ่มต้น หากเราพบกับความเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดฝัน เราควรเริ่มต้นจากการเปลี่ยนความคิดของตัวเองก่อน แทนที่จะคิดว่าทำไมเราถึงโชคร้ายต้องมาเจอกับความเปลี่ยนแปลงแบบนี้ ลองตั้งคำถามเพื่อถามตัวเองว่า ไหนๆ การเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นแล้ว เราจะทำใจให้ยอมรับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างไร เราจะใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาตนเองอย่างไรให้เรามีความสามารถมากขึ้น เพียงเท่านี้เราก็อาจจะเห็นมุมมองที่ดีที่ทำให้เราทำใจยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้ง่ายขึ้น
4.) ปรึกษากับคนที่ไว้ใจ
ในช่วงเวลาที่กำลังรู้สึกท้อใจกับเรื่องที่เจอ การได้ปรึกษาเรื่องเครียดๆ และได้ใช้เวลากับคนที่เรารู้สึกไว้ใจอย่างเพื่อนสนิท ครอบครัว หรือแฟน นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก หลายคนอาจจะคิดว่า ปรึกษาไปก็ไม่ได้ประโยชน์ เพราะเขาเหล่านั้นก็ช่วยเราไม่ได้อยู่ดี แม้ว่าการบอกเล่าเรื่องราวให้คนที่เราไว้ใจจะไม่สามารถทำให้ปัญหาที่เจอหมดไป แต่อย่างน้อยเราก็ได้แบ่งปันความรู้สึกและอาจได้รับกำลังใจจากคนที่รัก ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูจิตใจของเราให้กลับมาสดใสได้ดีขึ้น
นอกจากผู้ใหญ่อย่างเราจะต้องการคนที่ไว้ใจอยู่เคียงข้างในวันแย่ๆ แล้ว เด็กๆ เองก็ได้รับอิทธิพลที่ดีในการได้ห้อมล้อมอยู่กับเพื่อนสนิทเวลาเจอประสบการณ์ที่ไม่ดีอีกด้วย โดยอ้างอิงจากผลการศึกษาในปี 2011 พบว่า การที่เด็กๆ ได้อยู่กับเพื่อนสนิทในช่วงเวลาที่ไม่ดี จะเป็นเกราะป้องกันให้ประสบการณ์ที่ไม่ดีเหล่านั้นมีผลกระทบกับพวกเขาน้อยลง การที่เด็กได้อยู่กับเพื่อนสนิทในช่วงเวลาเลวร้ายระดับฮอร์โมน Cortisol หรือ ฮอร์โมนแห่งความเครียดจะมีระดับที่น้อยกว่าเวลาถ้าไม่มีเพื่อนสนิทอยู่ด้วย เรียกได้ว่าคนที่เราไว้ใจจะมีส่วนช่วยให้เราสามารถฟื้นตัวกลับมาได้ดีจากสถานการณ์ที่ยากลำบากได้ สำหรับบางคนยิ่งต้องได้รับการกระตุ้นจากคนรอบๆตัวก่อนถึงจะสามารถฟื้นตัวและกลับมาฮึดสู้ได้อีกครั้งหนึ่ง
5.) อย่าลืมใส่ใจตัวเอง เลือกทำกิจกรรมที่ชอบ
การที่เราจะมี Resilience ได้นั้น นอกจากจะต้องพัฒนาความคิด เปลี่ยนมุมมองในเรื่องต่างๆ แล้ว ก็จะต้องหันมาใส่ใจสุขภาพร่างกายของตัวเองด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีหลายครั้งที่ความเครียดและความกังวลต่างๆ ทำให้เราละเลยการดูแลตัวเอง ทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ จนส่งผลให้ฟื้นตัวกลับมาได้ช้ากว่าที่คิด นอกจากนั้นอาจทำให้มีอาการป่วยตามมา ซึ่งอาจทำให้เรารู้สึกท้อแท้มากขึ้นได้
ดังนั้น อย่าลืมใส่ใจความต้องการของตัวเอง ทำให้ตัวเองแข็งแรงและมีความสุขเข้าไว้ ไม่ว่าจะเป็นความต้องการพื้นฐาน อย่างเช่น การรับประทานอาหารที่ดีและมีประโยชน์ การดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน นอนพักผ่อนให้เพียงพอ หรือจะเป็นการทำกิจกรรม ที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายอย่างการเล่นเกม อ่านนิยาย ดูซีรี่ส์ที่ชอบ ฯลฯ ก็มีส่วนช่วยสร้าง Resilience Skill ได้เช่นกัน
6.) หมั่นออกกำลังกาย
ในบทความของดร. Debra Fulghum Bruce ได้บอกว่า การออกกำลังกายนั้นมีประโยชน์มากสำหรับคนที่กำลังอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ซึ่งมีทั้งความรู้สึกเศร้าและท้อใจกับเรื่องต่างๆ การออกกำลังกายจะช่วยให้สมองสั่งการให้มีการหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุขอย่าง Endorphine ออกมา ซึ่งจะทำให้เรารู้สึกดีและสดใสมากขึ้น ลดความรู้สึกเชิงลบลงไปได้ นับว่าเป็นอีกหนึ่งเทคนิคง่ายๆ ที่ช่วยสร้าง Resilience ให้กับเราได้
นอกจากนั้นยังช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันและช่วยทำให้หัวใจแข็งแรงขึ้นด้วยโดยรูปแบบการออกกำลังกายที่คนส่วนใหญ่แนะนำ และช่วยให้เรารู้สึกผ่อนคลายจากความเครียดได้ดีก็จะเป็นโยคะ แต่สำหรับบางคนที่ไม่ชอบการอยู่นิ่งๆ ทำอะไรช้าๆ การออกกำลังกายแบบแอโรบิกหรือเต้น Zumba ก็ช่วยสร้างความเพลิดเพลินและลดความรู้สึกด้านลบได้ดีไม่แพ้กัน ส่วนถ้าใครไม่ชอบกิจกรรมที่ทำให้เหงื่อก็สามารถเลือกออกกำลังกายด้วยการว่ายน้ำก็ให้ผลดีเช่นกัน
7.) ตั้งเป้าหมายใหม่
ส่วนหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกท้อใจกับงานที่ทำ อาจจะมาจากการที่เราไม่มีเป้าหมายในการทำงานก็เป็นได้ ทำให้แรงจูงใจในการทำงานของเรามีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น แล้วเมื่อเจอกับสถานการณ์ที่ตึงเครียดเข้ามากระทบก็ยิ่งทำให้เรารู้สึกท้อแท้ใจได้ง่าย และยังทำให้กลับมาฮึดสู้ตามแบบฉบับของคนที่มีสกิล Resilience ได้ยากขึ้นด้วยเพราะฉะนั้นการตั้งเป้าหมายใหม่ในการทำงาน เช่น ทำงานเพื่อเก็บเงินซื้อบ้าน ทำงานเพื่อให้ได้เลื่อนตำแหน่ง หรืออาจจะเริ่มต้นด้วยเป้าหมายง่ายๆ ก็ได้ เช่น ถ้าแก้ปัญหาได้ จะได้ทานของอร่อย หรือถ้าทำโปรเจกต์เสร็จ จะได้ดูซีรี่ส์ที่ชอบ เป็นต้น จะช่วยให้คุณมีแรงจูงใจในในการต่อสู้กับปัญหาได้มากขึ้น ทั้งยังเป็นการเสริมสร้างทักษะ Resilience จนกลับมาทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
นอกจากนั้นการตั้งเป้าหมายใหม่แบบนี้ ยังช่วยกระตุ้นเรารู้จักที่จะพัฒนาตัวเองเพื่อให้มีความสามารถมากขึ้น ทำให้เราได้มีโอกาสลองฝึกทักษะใหม่ๆ ทั้ง Hard Skills และ Soft Skills อยู่เสมอด้วย
สำหรับเทคนิคเพิ่ม Resilience ที่นำมาฝากกันในบทความนี้ ก็ยังเป็นเทคนิคที่มีส่วนช่วยให้เรามี Adaptabilty มากขึ้นด้วย ช่วยทำให้เราสามารถดูแลจิตใจให้กลับมาฮึดสู้ได้อีกครั้ง เรียกได้ว่าเป็นเทคนิคง่ายๆ ที่เราทุกคนสามารถทำได้ไม่ยากจนเกินไป
11 Jun 2024