Positive Psychology หรือ จิตวิทยาเชิงบวก คำเก๋ๆ ที่เป็นมากกว่าแค่ “การคิดบวก”

Last updated: 21 Jun 2022  |  2733 Views  | 

Positive Psychology หรือ จิตวิทยาเชิงบวก คำเก๋ๆ ที่เป็นมากกว่าแค่ “การคิดบวก”

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การนำความรู้เกี่ยวกับเรื่อง จิตวิทยาเชิงบวก หรือ Positive Psychology เข้ามาประยุกต์ใช้สอนให้กับผู้นำในองค์กร เพื่อเสริมสร้างทักษะต่าง ๆ ทั้งในด้านการสื่อสาร (Positive Communication Skill) การสร้างความร่วมมือ (Collaboration Skill) หรือการเป็นผู้นำที่ได้ใจลูกน้อง (Engaging Leaders) เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการสร้างองค์กรแห่งความสุข (Positive Organisation) นั้นมักจะได้ผลตอบรับที่ดีเยี่ยม แต่ก็มักจะได้รับคำถามจากผู้เข้าอบรม ในตอนเริ่มต้นคลาสหลายๆ ครั้งว่า “จิตวิทยาเชิงบวกที่อาจารย์สอน มันเหมือนเรื่องคิดบวกไหม”

ในบทความนี้ เราจึงอยากมานำเสนอเรื่องของจิตวิทยาเชิงบวกให้เข้าใจและมีรายละเอียดมากขึ้น เพราะนอกจากจะเป็นการตอบคำถามยอดฮิตที่ได้รับมาอยู่บ่อยๆ แล้ว ก็ยังเป็นการอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า จิตวิทยาเชิงบวกคืออะไร มีความสำคัญและจะช่วยเราได้อย่างไร

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านความสนใจในด้านจิตวิทยาเชิงบวก หรือ Positive Psychology เพิ่มขึ้นอย่างมากทั้งในด้านการนำมาประยุกต์ใช้ในการช่วยบริหารบุคลากรในองค์กร การส่งเสริมด้านการศึกษา การปรับใช้กับชีวิตส่วนตัว และในด้านความสัมพันธ์ มองกันเผิน ๆ จิตวิทยาเชิงบวก หรือ Positive Psychology ก็มีเนื้อหาที่ครอบคลุมเรื่องการมองโลกในแง่ดี (Optimism) มีการศึกษาในเรื่องการสร้างอารมณ์เชิงบวก (Positive Emotion) แต่แท้ที่จริงแล้ว การศึกษาด้าน จิตวิทยาเชิงบวกหรือ Positive psychology  ยังมีการศึกษาหัวข้ออื่น ๆ ที่มากไปกว่า นั้น และเป็นการศึกษาที่สร้างประโยชน์ให้กับการใช้ชีวิตและการทำงานในยุคปัจจุบัน ที่เป็นยุคแห่งความท้าทายที่มาพร้อมกับความเคร่งเครียดและเหนื่อยล้าทางด้านจิตใจ

Positive Psychology หรือ จิตวิทยาเชิงบวกคืออะไร?
จิตวิทยาเชิงบวกคือ "การศึกษาทางด้านจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องจุดแข็งของมนุษย์ที่ช่วยให้บุคคลและสังคมเจริญเติบโตได้" จากข้อมูลของศูนย์จิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology Center) ของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (PPC) หลักการสำคัญคือการมีความเชื่อว่า คนทุกคนต้องการมีชีวิตที่มีคุณค่าและมีความหมาย เป็นหลักการที่ช่วยส่งเสริมความก้าวหน้าทางด้านความคิด จิตใจ ความสุขและความสำเร็จของมนุษย์ เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตของตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุดได้ (Be The Best Version Of Yourself) ถ้าเรียกกันแบบไม่เป็นทางการมาก Positive Psychology หรือ จิตวิทยาเชิงบวก นั้น มีชื่อเล่น หรือ ชื่อในวงการว่า Science Of Happiness

ทำไมถึงใช้คำว่า Science หลายคนอาจจะไม่ทราบว่า ศาสตร์ในเรื่องจิตวิทยาเชิงบวกมีสอนกันในระดับมหาวิทยาลัย รวมถึงมีการทำงานวิจัยกันอย่างจริงจังและกว้างขวาง ถ้าจะอธิบายกันให้เห็นภาพมากขึ้น จิตวิทยาเชิงบวก หรือ Positive Psychology สำหรับบางมหาวิทยาลัยก็คือหนึ่งในสาขาของคณะจิตวิทยานั่นเอง ซึ่งในปัจจุบันมีนักศึกษามากมายที่เรียนจบสาขานี้และได้รับดีกรีในระดับปริญญาตรีไปจนถึงระดับปริญญาเอก

ผู้ก่อตั้ง Positive Psychology หรือ จิตวิทยาเชิงบวก
ศาสตร์ด้าน "จิตวิทยาเชิงบวก" ถูกริเริ่มขึ้นโดย ดร. มาร์ติน เซลิกแมน (Martin EP Seligman, Ph.D.) อดีตประธานสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน หรือ American Psychological Association (APA) ซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพทางด้านจิตวิทยาที่มีขนาดใหญ่และได้รับการยอมรับมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา ร่วมกันกับศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่มีชื่อเสียงอีกท่านคือ ดร. มิฮาลี ชิคเซนมิฮาย (Mihaly Csikszentmihalyi, Ph.D.) แห่งมหาวิทยาลัย Claremont Graduate University 

ศาสตราจารย์ทางด้านจิตวิทยาทั้งสอง มีความตั้งใจที่จะส่งเสริมความตระหนักรู้ด้านสุขภาวะที่ดีผ่านการแสวงหาการมีชีวิตอย่างมีความสุข เต็มไปด้วยความหมาย การมีสติ การให้อภัยและจิตใจที่เข้มแข็งขึ้น ควบคู่ไปกับการมีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น และความสำเร็จในด้านต่าง ๆ ของชีวิตและสิ่งนี่เองทำให้ศาสตร์ทางด้านจิตวิทยาเชิงบวกมีความแตกต่างจากศาสตร์ทางด้านจิตวิทยาอื่น ๆ ในสมัยนั้น  ที่มุ่งเน้นไปที่การรักษาปัญหาทางสุขภาพจิตที่มีให้ทุเลาหรือหมดสิ้นไป โดยทั้งโรงเรียนและองค์กรหลายแห่งก็ได้นำแนวทางจิตวิทยาเชิงบวกนี้ไปใช้กับโครงการทางด้านการปรับปรุงรูปแบบการเรียนการสอน การพัฒนาบุคลากรในองค์กร การส่งเสริมสุขภาพกายและใจให้เกิดสุขภาวะที่ดี รวมไปถึงโครงการหลาย ๆ โครงการที่สำคัญที่ช่วยส่งเสริมและดูแลทหารของกองทัพสหรัฐฯ

ดร. มาร์ติน เซลิกแมน ได้เคยพูดถึงแง่มุมของศาสตร์จิตวิทยาเชิงบวกที่เขาได้ศึกษา ใน Ted Talk ว่าเป้าหมายที่สำคัญข้อแรกคือ การที่จิตวิทยาเชิงบวกได้ให้ความสำคัญกับจุดแข็งของมนุษย์เช่นเดียวกับที่ใส่ใจในจุดอ่อน สิ่งนี้จะช่วยสร้างเสริมความแข็งแกร่ง เช่นเดียวกับที่ช่วยปรับปรุงข้อบกพร่อง เราทุกคนควรจะให้ความสนใจกับสิ่งดี ๆ ทั้งหลายในชีวิต และควรหันมาสนใจกับการทำให้ชีวิตของคนปกติธรรมดาเติมเต็มมากขึ้น ให้ความสนใจกับอัจฉริยะ และการบ่มเพาะผู้มีพรสวรรค์หรือความสามารถพิเศษด้วย  

ดร.คริสโตเฟอร์ ปีเตอร์สัน (Christopher Peterson,Ph.D.) นักจิตวิทยาที่มีชื่อเสียงอีกคนหนึ่งได้ให้คำจำกัดความของจิตวิทยาเชิงบวกว่าเป็นการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับการทำให้ชีวิตมีค่ามากที่สุด เป็นวิธีการในการศึกษาทางด้านความคิด ความรู้สึกและพฤติกรรมของมนุษย์ในขณะที่เน้น “การเสริมจุดแข็งให้เป็นจุดแกร่ง”แทนที่การกำจัดหรือมุ่งเอาแต่ปรับปรุงจุดอ่อน โดยจุดแข็งที่สำคัญ อันเป็นกระดูกสันหลังหลักของศาสตร์ทางด้านจิตวิทยาเชิงบวกก็คือ  VIA Character Strengths  ซึ่งมีทั้งหมด 24 ข้อ นอกจากด้านจุดแข็งแล้ว จิตวิทยาเชิงบวกยังมุ่งเน้นไปที่เรื่องอื่น ๆ เช่น การมองโลกในแง่ดี การมีความหวัง การให้อภัย ความยืดหยุ่นและความสามารถในการฟื้นตัว (Resilience) สาขาจิตวิทยาเชิงบวกนี้ได้ครอบคลุมหลากหลายแง่มุมในชีวิต ซึ่งผู้ที่ศึกษาสามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตการทำงาน ชีวิตส่วนตัว ความสัมพันธ์กับบุคลอื่น ๆ  การรับมือกับความเครียดและความท้าทายเหล่านี้เป็นต้น ซึ่งแง่มุมเหล่านั้นมีความจำเป็นในการนำพาตัวเองไปสู่ ชีวิตที่มีความหมาย

เพราะอะไรจิตวิทยาเชิงบวกจึงมีความสำคัญ
คุณอาจเคยได้ยินเคล็ดลับความสุขที่เสนอให้เรานึกถึง สามสิ่งที่คุณรู้สึกขอบคุณเมื่อคุณจมปลักอยู่กับความคิดเชิงลบ (3 Good Things)  การปรับเปลี่ยนมุมมองความคิดนั้นเกิดจากการวิจัยและพัฒนาของ ดร. มาร์ติน เซลิกแมน โดยเมื่อฝึกฝนแล้วจะช่วยเสริมสร้างความต้านทานต่อความทุกข์ยาก (Difficulties) ได้ดีและง่ายขึ้น   ในระยะสั้นเราจะสามารถเรียนรู้วิธีที่จะจัดการกับสิ่งที่ยากในชีวิตด้วยความสง่างามมากขึ้นและมีความเครียดน้อยลง นักวิจัยในสาขาของจิตวิทยาเชิงบวกได้ออกแบบ กิจกรรมหรือ Interventions หลากหลายที่ เข้ามาช่วยการบำบัดบุคคลที่เป็นโรคที่มีความผิดปกติทางจิต (Psychological Disorder) เช่น โรคซึมเศร้า ซึ่งได้รับผลดีควบคู่ไปกับการรักษาจากจิตแพทย์ นอกจากนี้ การใช้จิตวิทยาเชิงบวกกับเด็กวัยรุ่นและคนหนุ่มสาวสามารถช่วยสร้างเกราะป้องกันภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลได้

จุดมุ่งหมายหลักของจิตวิทยาเชิงบวกคือการกระตุ้นให้ผู้คนค้นพบและรักษาจุดแข็งของตนเองมากกว่าที่จะพยายามแก้ไขข้อบกพร่อง จิตวิทยาเชิงบวกเน้นถึงความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนมุมมองเชิงลบไปสู่การมองโลกในแง่ดีมากขึ้นเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิต ตามทฤษฎีของจิตวิทยาเชิงบวกความคิดเชิงบวกเป็นหนึ่งในแรงผลักดันหลักของชีวิต 

ประโยชน์ 3 ข้อของจิตวิทยาเชิงบวก

1.ทำให้เรามีความหวัง เมื่อมีสิ่งเลวร้าย หรือความท้าทายเกิดขึ้นหลายคนอาจรู้สึกอยากยอมแพ้ เหตุการณ์ท้าทายที่ถือเป็นบทเรียนของมวลมนุษยชาติทุกคนที่เผชิญร่วมกันก็คือ การระบาดของโรค COVID-19 ที่ผู้คนนับไม่ถ้วนรู้สึกสิ้นหวังกับอนาคตที่ไม่แน่นอน ความกลัวการตกงานในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบโดยตรง การ Work From Home อันยาวนาน ไม่ได้ออกไปเจอเพื่อนฝูงหรือครอบครัว สิ่งเหล่านี้ล้วนสร้างความเครียดให้กับเราส่วนใหญ่ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง จิตวิทยาเชิงบวกจะสอนให้เรารู้จักกับการมองโลกในแง่ดีบนพื้นฐานของความเป็นจริง ทำให้เราใช้ทรัพยากรณ์ของตนเองทั้งในด้านความคิดแก้ไขปัญหาไปพร้อมๆ  กับการมีความหวัง (Hope) เพราะความหวังคือ พลังในการที่จะขับเคลื่อนเราให้ก้าวต่อไป  และหาวิธีจัดการกับความท้าทายโดยไม่ลดละความพยายาม (Perseverance) แม้สิ่งรอบตัวดูจะใจร้ายกับเราไปเสียหมด และหากผ่านเรื่องราวร้ายๆเหล่านี้ไปได้จะทำให้เรามีความเข้มแข็งมากขึ้นในการจัดการกับปัญหา ต่าง ๆ ที่อาจเข้ามาในตอนนี้และในอนาคต

2.ทำให้แข็งแกร่งขึ้นและโฟกัสถูกที่  คนที่รู้สึกสิ้นหวังมักมองเห็นแต่ด้านลบ มีความคิดเชิงลบมากมายวนเวียนอยู่ในหัว แทบไม่เห็นโอกาสและความเป็นไปได้ หลายคนเริ่มกลับมาโทษตัวเอง เริ่มมีความคิดเชิงลบกับตัวเอง ทำให้ขาดความมั่นใจและเชื่อมั่นในความสามารถและศักยภาพของตนเอง (Self-Esteem) ซึ่งในสถานการณ์ที่ยากลำบาก การเห็นข้อดีเสริมสร้างความคิดและอารมณ์เชิงบวกเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยาก การประยุกต์ใช้จุดแข็งของตัวเองจากศาสตร์ด้านจิตวิทยาเชิงบวก จึงมีความสำคัญมาก วันที่หันซ้ายหันขวาแล้วยังไม่เห็นใคร กลับมามองที่ความเป็นจริงเห็นแต่ตัวเอง ดังนั้นตนเองจึงต้องเป็นที่พึ่งแห่งตน คำถามที่สำคัญคือ เราจะเอาจุดแข็งของตัวเองและความสามารถของตนเองขึ้นมาสู้ หรือเราจะมัวแต่พร่ำบอกตัวเองถึงข้อเสียและความผิดพลาดที่ผ่านมา การที่จิตวิทยาเชิงบวก เน้นการประยุกต์ใช้จุดแข็งนั้น จึงเป็นความรู้ที่สำคัญ เพราะจะทำให้เราเห็นและโฟกัสไปที่จุดแข็ง และสามารถนำสิ่งเหล่านี้มาใช้ในการจัดการกับปัญหาได้ ทำให้คุณมีความมั่นใจ ควบคุมชีวิตของตนได้

3. ทำให้ความสัมพันธ์ของเรากับคนรอบตัวดีขึ้น ในการศึกษาวิจัยที่ยาวนานที่สุดชิ้นหนึ่งของโลกจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) พบว่า ความสัมพันธ์ที่ดี (Positive Relationship) มีผลต่อระดับความสุขของเราโดยตรง และความสัมพันธ์เชิงบวกนี้ก็เป็นสิ่งที่  ดร. มาร์ติน เซลิกแมน ได้กำหนดไว้ว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้คนเรามีสุขภาวะที่ดีหรือ Wellbeing 

ในด้านความสัมพันธ์ จิตวิทยาเชิงบวกไม่ได้กำหนดกรอบความสัมพันธ์ว่าต้องเป็นความสัมพันธ์ในลักษณะคู่รักเท่านั้น แต่รวมไปถึง ครอบครัว เพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงาน และแม้แต่คนในชุมชนที่เราได้ร่วมทำกิจกรรม (Community) เนื่องจากบางคนอาจมีกิจกรรมเป็นการไปโบสถ์ในวันอาทิตย์ ทีมกีฬาที่เราเป็นสมาชิกอยู่ เป็นต้น 

ศาสตร์ทางด้านจิตวิทยาเชิงบวกได้พูดถึงเรื่องความสัมพันธ์ที่ดีในแง่มุมของการได้รับการสนับสนุน Support ในด้านต่าง ๆรวมถึงทางด้านจิตใจ รู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของกลุ่ม และคนอื่นๆ เห็นคุณค่าของเรา สิ่งเหล่านี้คือแง่มุมที่จิตวิทยาเชิงบวกให้ความสำคัญในด้านการมีความสัมพันธ์ที่ดี ซึ่งเราสามารถส่งเสริมการสร้างความสัมพันธ์เชิงบวก (Positive Relationship) ผ่านการพัฒนาทักษะทางด้าน Interpersonal Skill การเรียนรู้วิธีการสื่อสารเชิงบวก (Positive Communication) เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ดี การมองผู้อื่นในแง่ดี และการเอาใจเขามาใส่ใจเรา (Empathy) ซึ่งทักษะเหล่านี้จะช่วยให้มิตรภาพของคู่แต่งงาน ความผูกพันในครอบครัว ความสัมพันธ์กับเพื่อน และบุคคลอื่น ๆ แน่นแฟ้นขึ้น และทำให้เรามั่นใจได้ว่าเรามี Social Support หรือกลุ่มคนที่พร้อมจะอยู่เคียงข้างเราทั้งยามสุขและยามทุกข์ 

Powered by MakeWebEasy.com
This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our Privacy Policy  and  Cookies Policy