Psychological Safety in Workplace ความปลอดภัยทางจิตใจในที่ทํางาน

Last updated: 25 พ.ค. 2566  |  1249 จำนวนผู้เข้าชม  | 

Psychological Safety

ในปัจจุบันPsychological Safety เป็นคำที่องค์กรชั้นนำต่างๆ ทั่วโลกหันมาให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่ช่วยสร้าง Teamwork ที่แข็งแกร่งจนสามารถพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จได้ อีกทั้งยังช่วยพัฒนาทักษะและศักยภาพของพนักงานได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วต้องทำอย่างไรถึงจะสามารถสร้าง Psychological Safety หรือ ความปลอดภัยทางจิตใจ ได้ ทาง Plusitives ได้รวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจมาให้ในบทความนี้แล้ว 

Psychological Safety คืออะไร
Psychological Safety แปลว่าความปลอดภัยทางจิตใจ มีความหมายว่า “ความเชื่อที่ว่าคุณจะไม่ถูกลงโทษหรือถูกทำให้อับอายเมื่อมีการแสดงความคิดเห็น การตั้งคำถาม การอธิบายความกังวลใจ หรือมีข้อผิดพลาดในการทำงาน และคุณจะปลอดภัยจากมุมมองของสมาชิกภายในทีม เมื่อต้องทำอะไรที่มีความเสี่ยงกระทบกับคนอื่นๆ” ซึ่งคำนี้ถูกนิยามขึ้นเป็นครั้งแรกโดย Amy C. Edmondsonนักวิชาการจากมหาวิทยาลัย Harvard ที่ทำการศึกษาค้นคว้าในหัวข้อ “ประสิทธิภาพของการทำงานเป็นทีม” และพบว่า Psychological Safety หรือ ความปลอดภัยทางจิตใจ คือ กุญแจสำคัญในการสร้างทีมงานที่มีประสิทธิภาพ

อีกทั้งยังช่วยลดความขัดแย้งระหว่างสมาชิกภายในทีมได้อีกด้วย อ้างอิงจากบทความบนเว็บไซต์ ccl.org ที่ได้มีการเปิดเผยผลการศึกษาว่า จากการติดตามการทำงานของหัวหน้าทีมประมาณ 300 คน เป็นเวลากว่า 2.5 ปี ทีมที่มีระดับ Psychological Safety หรือ ความปลอดภัยทางจิตใจ สูง ก็จะมีประสิทธิภาพในการทำงานสูงตามไปด้วย และมีโอกาสเกิดความขัดแย้งภายในทีมต่ำมากๆ

Psychological Safetyมีทั้งหมดกี่ระดับ
ในปี 2020 ที่ผ่านมา Timothy R. Clark ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร LeaderFactorได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับ Psychological Safety ว่าประกอบไปด้วยความปลอดภัยทางจิตใจทั้งหมด 4 ระดับด้วยกัน ได้แก่

ระดับที่ 1 Inclusion Safety หรือ ความรู้สึกปลอดภัยที่ได้เป็นส่วนหนึ่

สำหรับ Psychological Safety ระดับที่1 จะเกิดขึ้นเมื่อคุณมีการเข้าร่วมกับทีมและได้รับการยอมรับจากสมาชิกทุกคน โดยที่ไม่มีการตัดสิน หรือแบ่งแยกความแตกต่าง ทุกคนมีความสำคัญเท่าๆ กัน ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้คุณเกิดความรู้สึกปลอดภัยที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมนั้นๆ

ระดับที่ 2 Learner Safety หรือ ความรู้สึกปลอดภัยที่จะเรียนรู้

หลังจากคุณได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของทีมแล้ว จะมีการพัฒนาความปลอดทางจิตใจขึ้นมาอีกระดับ เพราะการทำงานจริง เราไม่สามารถหยุดนิ่งได้ โดยเฉพาะในยุค Digital Transformation ที่มีสิ่งใหม่ ๆให้เราต้องเรียนรู้อยู่เสมอ ความปลอดทางจิตใจในระดับนี้  จะทำให้คุณมีความกล้าที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ กล้าที่จะตั้งคำถามและเสนอไอเดีย รวมไปถึงกล้าที่จะลองผิดลองถูก เรียกได้ว่า Psychological Safety ระดับนี้ จะช่วยให้คุณสามารถเปิดใจเรียนรู้และดึงศักยภาพของตนเองออกมาได้อย่างเต็มที่
อ้างอิงจากบทความบนเว็บไซต์ elifesciences.orgเมื่อมีการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เซลล์ประสาทภายในสมองจะมีการเพิ่มจำนวนมากขึ้น พร้อมกับมีการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาทในรูปแบบใหม่ที่ไม่ซ้ำรูปแบบเดิม ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของสมองได้

ระดับที่ 3 Contributor Safety หรือ ความรู้สึกปลอดภัยที่จะลงมือทำ

เมื่อคุณมีความกล้าที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แล้ว ก็จะมีการพัฒนาไปเป็น Contributor Safety ทันทีเมื่อหัวหน้าทีมได้มอบหมายหน้าที่ให้เพราะเชื่อว่าคุณจะทำงานในส่วนนี้ได้ดี คนในทีมที่มี ความปลอดทางจิตใจในระดับนี้จะเกิดความรู้สึกระตือรือร้น พร้อมที่จะใช้ความสามารถและทักษะของตนเองให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งอาจถือได้ว่า Psychological Safety ระดับนี้ มีส่วนสำคัญในการสร้างความไว้วางใจระหว่างคนในทีมและเกิดเป็น Teamworkที่มีประสิทธิภาพในที่สุด

ระดับที่ 4 Challenger Safety หรือ ความรู้สึกปลอดภัยที่จะท้าทาย

มาถึงระดับสุดท้ายของ Psychological Safetyกันแล้ว โดยเป็นการพัฒนาต่อจากระดับที่3 จนได้เป็น Challenger Safety ที่จะทำให้คุณมีความมั่นใจที่จะพูดถึงการเปลี่ยนแปลง เมื่อบางอย่างควรได้รับการเปลี่ยนแปลงเพื่อผลลัพธ์ที่ดีกว่าในอนาคต อีกทั้งยังทำให้คุณกล้าเผชิญกับความกดดัน และยังมีส่วนช่วยในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ได้อีกด้วย อ้างอิงจากบทความบนเว็บไซต์ porchlightbooks.com

ประโยชน์ของการสร้าง Psychological Safetyในที่ทำงาน

1.) อัตรา Turnover ลดลง
สำหรับองค์กรที่มีการสร้าง Psychological Safety หรือ ความปลอดทางจิตใจ พนักงานจะรู้สึกสบายใจที่จะทำงานร่วมกับคนอื่นๆ  มีความเคารพซึ่งกันและกัน ความขัดแย้งน้อยลง ส่งผลให้บรรยากาศในการทำงานเป็นมิตรต่อทุกคน และอัตราการลาออกของพนักงานก็ลดลงตามไปด้วย อ้างอิงจากบทความบนเว็บไซต์ gritsearch.comมีการระบุว่า พนักงานมักจะลาออกเมื่อเจอกับบรรยากาศการทำงานที่ Toxic, หัวหน้างานที่มักจะให้แต่คำวิจารณ์เชิงลบ , ตำแหน่งงานที่ทำมีโอกาสเติบโตน้อย เป็นต้น นอกจากนั้นแล้ว Psychological Safetyยังช่วยลดความตึงเครียดในการทำงาน ส่งผลดีต่อสุขภาพจิต ทำให้ร่างกายมีการหลั่งฮอร์โมน Dopamine ออกมามากขึ้น ซึ่งช่วยเพิ่มสมาธิ เพิ่มแรงจูงใจ และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น อ้างอิงจากบทความของ Brent Kedzierski

2.) มีความผูกพันกับงานและองค์กรมากขึ้น
เมื่อพนักงานรู้สึกถึงความปลอดภัยและสบายใจกับการทำงาน ก็จะทำให้พวกเขารู้สึกมีแรงจูงใจที่จะทำงานด้วยความมุ่งมั่นและทุ่มเท พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับองค์กรเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทักษะตนเองเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือจะเป็นการร่วมแรงร่วมใจสร้างประโยชน์ให้กับองค์กร ซึ่งก็ล้วนเป็นผลมาจาก Psychological Safety หรือ ความปลอดทางจิตใจ ทั้งสิ้น

3.)ช่วยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์
Psychological Safetyในที่ทำงาน จะทำให้พนักงานมีความกล้าที่จะเสนอความคิดเห็นของตนเอง เพราะรู้ว่ายังไงตนเองก็จะไม่โดนตำหนิหรือโดนทำให้อับอาย จึงทำให้สมองทั้ง 2 ซีก คือสมองซีกซ้าย (Left Hemisphere) และสมองซีกขวา (Right Hemisphere)   มีการทำงานประสานกันและสร้างการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาทมากมายนับไม่ถ้วน เพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ที่สามารถนำไปต่อยอดในการทำงานได้ อ้างอิงจากบทความของ Alison Koontz

4.) เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของทีม
อ้างอิงจากบทความของ Laura Delizonna เมื่อทุกคนรู้สึกปลอดภัยและเปิดใจที่จะทำงานร่วมกัน ความไว้วางใจระหว่างคนในทีมก็จะเกิดขึ้น รวมไปถึงการให้ Feedback เพื่อพัฒนาปรับปรุงงานอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของทีมได้ ดังนั้น การสร้าง Psychological Safetyในที่ทำงาน จึงมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการที่จะพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จ 

เคล็ดลับในการสร้าง Psychological Safetyในที่ทำงาน มีอะไรบ้าง

1.) หลีกเลี่ยงการตำหนิหรือต่อว่าผู้อื่น
อันดับแรกของการสร้าง Psychological Safety หรือ ความปลอดทางจิตใจ จะต้องเริ่มจากการสร้างความไว้วางใจเสียก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความไว้วางใจว่า "จะไม่มีใครในทีมโดนตำหนิหรือโดนลงโทษจากการเสนอความคิดเห็น การถามคำถาม รวมไปถึงการเกิดข้อผิดพลาดในการทำงาน"

2.) ให้โอกาสทุกคนได้พูดในสิ่งที่คิด
ในการประชุมแต่ละครั้ง ควรจะให้โอกาสทุกคนได้มีส่วนร่วม ได้พูดแสดงความคิดเห็นของตนเอง  โดยอาจกำหนดเวลาในการแสดงความคิดเห็นที่เท่ากัน ช่วยตัดสินใจในเรื่องต่างๆ พร้อมกับเปิดรับ Feedback จากทุกคนในทีม โดยที่จะต้องไม่มีการตัดสินว่าความคิดเห็นนั้นๆ ดีหรือไม่ เพราะจะทำให้ทุกคนกลัวที่จะเสนอไอเดียและเป็นการทำลาย Psychological Safety ในที่ทำงาน

3.) ต้องรู้จักตระหนักรู้ในตนเอง
สิ่งสำคัญสำหรับการทำงานแบบ Teamworkคือ สมาชิกภายในทีมจะต้องมีความตระหนักรู้ในตนเอง ซึ่งรวมไปถึงเรื่องที่เกี่ยวกับ Psychological Safety ด้วยเช่นกัน ทุกคนจะต้องรู้ว่าตนเองมีการตอบสนองต่อสถานการณ์ต่างๆ อย่างไร ต้องควบคุมและจัดการกับอารมณ์ของตนเองอย่างมืออาชีพ ตระหนักรู้ในการแสดงออก ทั้งทางด้าน สีหน้าและท่าทาง เพื่อให้คนอื่นๆ รู้สึกปลอดภัยที่จะเปิดเผยความคิดเห็นส่วนตัว

4.) สนับสนุนและให้รางวัลเมื่อมีโอกาส
การสนับสนุนและให้รางวัลกับคนในทีม เช่น การพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับแต่ละคน การเลี้ยงสังสรรค์เมื่อโปรเจ็กต์สำเร็จลุล่วง เป็นต้น การกระทำเหล่านี้จะทำให้พวกเขามีแรงจูงใจและมีความมั่นใจในความสามารถของตนเองมากขึ้น ส่งผลให้ทุกคนกล้าเสนอไอเดีย กล้าลงมือทำ และพร้อมรับฟัง Feedback เสมอ ท้ายที่สุดก็จะเกิด Psychological Safetyในที่ทำงาน

จะเห็นว่าการสร้าง Psychologocal Safetyนั้น มีความสำคัญต่อการประสบความสำเร็จขององค์กรและการสร้างทีมงานที่มีประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก โดยที่ขั้นตอนการสร้างความปลอดภัยทางจิตใจนั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนในองค์กรไม่ว่าจะเป็นระดับผู้นำองค์กร หัวหน้า หรือสมาชิกในทีมก็สามารถเริ่มลงมือปฏิบัติได้หากมีความตั้งใจจริง 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้