Last updated: 21 มิ.ย. 2565 | 2189 จำนวนผู้เข้าชม |
เมื่อองค์กรหลายแห่งเริ่มให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนให้มี Growth Mindset หรือกรอบความคิดแบบเติบโตแต่ก็ยังมีหลายคนที่ไม่เข้าใจว่ากรอบความคิดแบบนี้คืออะไร สำคัญกับการทำงานอย่างไร ช่วยพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จได้จริงหรือ บทความนี้จะช่วยไขข้อสงสัยของคุณเอง
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในปัจจุบันนี้ Growth Mindset คือ Soft Skills ที่จำเป็นสำหรับการทำงาน โดยเฉพาะเมื่อต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลง และปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น คนที่มีกรอบความคิดแบบนี้จะสามารถปรับตัวและเรียนรู้จนผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ไปได้ ทำให้องค์กรหลายแห่งทั้งในและต่างประเทศต่างก็ให้ความสำคัญ และต้องการ Training บุคลากรทุกคนให้มีกรอบความคิดแบบนั้น เพื่อพัฒนาองค์กรไปสู่ความสำเร็จนั่นเอง แต่หลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจว่า Growth Mindset เป็นกรอบความคิดแบบใด สำคัญกับการทำงานในยุคปัจจุบันจริงหรือไม่ บทความนี้จะช่วยไขข้อสงสัยให้กระจ่าง พร้อมทั้งแนะนำวิธีการเริ่มต้นพัฒนาคนในองค์กรที่สามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตจริง
Growth Mindset คืออะไร
สำหรับคำนิยามของ Growth Mindset ทางดร. Carol Dweck ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เจ้าของทฤษฏี ”มนุษย์มีกรอบความคิดอยู่ทั้งหมด 2 แบบ” ได้ให้ความหมายไว้ว่า Growth Mindset หรือกรอบความคิดแบบเติบโตคือ กรอบความคิดที่เชื่อมั่น ในความสามารถของตนเอง เชื่อมั่นว่าเราสามารถพัฒนาความรู้และทักษะที่มีอยู่ให้ดีมากยิ่งขึ้นได้ ผ่านการฝึกฝนและพยายาม แม้จะเจออุปสรรคหรือปัญหามากขนาดไหน ก็ไม่คิดที่จะยอมแพ้ และจะคิดว่าสิ่งที่เผชิญอยู่คือบททดสอบที่จะทำให้ตนเองนั้นเก่งขึ้น
คำนิยามดังกล่าวอาจจะทำให้บางคนยังมองไม่เห็นภาพ เราจึงขอยกตัวอย่าง Growth Mindset in action หรือก็คือตัวอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง เช่น เมื่อเกิดปัญหาในการทำงาน คนที่มี Growth Mindset ก็จะเริ่มวางแผนและพยายามสรรหาวิธีแก้ไขมาลองผิดลองถูก แม้จะล้มเหลวบ้างก็จะคิดว่าไม่เป็นไร อย่างน้อยก็ได้เรียนรู้จากความล้มเหลว เข้าทำนองเดียวกับประโยคที่ว่า “It’s OK if I fail, at least I learned something.”
กรอบความคิดแบบนี้นี่เองที่จะทำให้เราสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด สามารถฝึกฝนและพัฒนาทักษะใหม่ๆ ได้ ตราบเท่าที่เราไม่หยุดเรียนรู้ แถมในแง่มุมของสมอง การมีความคิดแบบ Growth Mindset ยังทำให้สมองของเรามีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากการฝึกคิดแบบ Growth Mindset จะทำให้เซลล์สมองเกิดการจัดเรียงใหม่และเชื่อมต่อกันมากขึ้น ซึ่งเป็นการกระทำที่เป็นมิตรกับสมอง (Brain Friendly) ช่วยให้สมองมีรูปแบบสั่งการที่หลากหลาย สามารถแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ต่างๆ ได้ดี งานที่ได้มีประสิทธิภาพ และยังทำให้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ไวขึ้นด้วย
Fixed Mindset แตกต่างจาก Growth Mindset อย่างไร
ก่อนหน้านี้เราได้พูดถึงคำนิยามของ Growth Mindset หรือกรอบความคิดแบบเติบโตกันไปแล้ว คราวนี้เราจะมาพูดถึงคำนิยามของ Fixed Mindset หรือกรอบความคิดแบบตายตัวกันบ้าง ซึ่งทางดร. Carol Dweck ได้ให้คำนิยามไว้ว่า Fixed Mindset คือ กรอบความคิดที่เชื่อว่าความสามารถของแต่ละคนนั้น ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ และยังเชื่อว่าทักษะต่างๆ ไม่สามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้ ดังนั้นคนที่มีกรอบความคิดแบบ Fixed Mindset จึงมักมีความคิดที่ตายตัวในหลายๆ แง่มุม มักจะเป็นคนที่ชอบหลีกเลี่ยงปัญหา อีกทั้งยังไม่ชอบเผชิญหน้ากับความล้มเหลว และยอมแพ้กับปัญหาต่างๆ ที่เข้ามาได้ง่ายกว่า
หากจะอธิบายให้เห็นภาพมากยิ่งขึ้น เราจึงขอยกตัวอย่างเป็นสถานการณ์เดียวกันกับ Growth Mindset เช่น เมื่อเกิดปัญหาในการหรือ โปรเจคที่ทำอยู่ คนที่มีกรอบความคิดแบบ Fixed Mindset จะเกิดความรู้สึกอยากยอมแพ้ได้ง่าย รู้สึกท้อแม้ หมดพลัง และเมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดความล้มเหลวขึ้น ก็จะพยายามหาข้ออ้างต่างๆ มาอธิบายถึงสาเหตุของความล้มเหลวในครั้งนั้น โดยที่อาจจะไม่พยายามทำความเข้าใจของสาเหตุของความล้มเหลวที่แท้จริง ไม่หาหนทางแก้ไข หรือไม่ยอมเรียนรู้อะไรเลยจากความล้มเหลวในครั้งนั้นๆ หลายครั้งที่คนที่มีกรอบความคิดแบบ Growth Mindset ก็อาจจะทำผิดพลาดและล้มเหลวเช่นกัน แต่คนที่มีกรอบความคิดแบบเติบโต หรือ Growth Mindset จะกล้าเผชิญหน้ากับความจริง และในบางครั้งเขาเองก็ค้นพบว่าสาเหตุของความล้มเหลวนั้น อาจจะมาจากตัวเขาเอง และเมื่อพบต้นตอของปัญหาแล้ว เขาก็จะลงมือแก้ไข และไม่หยุดนิ่งที่จะพยายามหาหนทางมาสู้ต่อ เพื่อให้ตัวเองขยับเข้าใกล้ความสำเร็จมากขึ้นไปอีก
ในด้านการทำงานของสมอง การมีกรอบความคิดแบบ Fixed Mindset นี้ จะทำให้เซลล์สมองมีการเชื่อมต่อกันน้อยกว่า เพราะจะมีรูปแบบการสั่งงานแบบเดิมๆ อยู่ตลอด ไม่ได้การสร้าง Neural Pathway หรือวิถีประสาทที่มีการเชื่อมต่อแบบใหม่ๆ ทำให้เมื่อต้องการจะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และพัฒนาตนเองนั้นทำได้ยากกว่าคนที่มีกรอบความคิดแบบ Growth Mindset ที่พร้อมเปิดกว้างและเรียนรู้
Growth Mindset สำคัญอย่างไรในการทำงาน
มาถึงตรงนี้ ทุกคนน่าจะเข้าใจ Growth Mindset กันมากขึ้นแล้ว ทีนี้เราจะมาพูดถึงความสำคัญของกรอบความคิดแบบนี้กันบ้าง ว่าส่งผลอย่างไรในการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่หลายๆ อย่างไม่แน่นอน และการเปลี่ยนแปลงก็มาเร็วและแรงกว่าที่คิด แน่นอนว่าในชีวิตการทำงานของแต่ละคนก็จะต้องพบเจอกับปัญหาและอุปสรรคมากมายอยู่แล้ว บางคนก็สามารถผ่านมันไปได้ และบางคนก็ยอมแพ้ตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งการกระทำดังกล่าวมักจะส่งผลต่อประสิทธิภาพของงานที่เราได้รับมอบหมาย รวมถึงมีผลต่อการประสานงานติดต่อสื่อสารกับคนในแผนกเดียวกันและแผนกอื่น อีกทั้งยังมีโอกาสทำให้โปรเจกต์ต่างๆ ที่ได้รับมอบหมายหยุดชะงัก ไปต่อไม่ได้ เสียทั้งเวลาและทรัพยากรขององค์กร
ดังนั้น คนที่มีกรอบความคิดแบบ Growth Mindset หรือกรอบความคิดแบบเติบโตก็จะมีความมุ่งมั่นที่จะทำงานให้สำเร็จมีวิธีรับมือกับปัญหาต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย พร้อมรับ Feedback เช่นข้อติชมที่เป็นประโยชน์ เพื่อนำมาพัฒนาและแก้ไขปัญหา สามารถปรับตัวได้ดีหรือที่เราเรียกว่าเป็นคนที่มี Adaptability สูง ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งความสามารถ หรือ สมรรถนะ (Competency) ที่องค์กรในปัจจุบันกำลังมองหาในตัวพนักงาน
นอกจากนั้นคนที่มีกรอบความคิดแบบเติบโต เมื่อต้องทำงานใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน ก็พร้อมรับความท้าทาย อีกทั้งยังมีความพร้อมที่จะเรียนรู้ และพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย เพราะฉะนั้นถ้าหากเราสามารถ Training เพื่อจุดประกายและส่งเสริมความรู้ในการพัฒนาคนในองค์กรให้มีกรอบความคิดแบบ Growth Mindset ได้ ก็จะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพ โปรเจกต์ต่างๆ ดำเนินการไปได้ด้วยดี อีกทั้งคนในองค์กรจะมีความพร้อมในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลง หรือ Change ต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น เพิ่มแรงกระตุ้นและกำลังใจ เพื่อลดการเกิดปัญหาติดขัด ทำให้องค์กรเสียทรัพยากรน้อยลงในการบริหารงานเพื่อให้ได้ตรงตามเป้าหมายที่วางไว้ อาจเรียกได้ว่านี่เป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญในการช่วยพัฒนาคนและช่วยพัฒนาองค์กรให้ก้าวเดินไปสู่ความสำเร็จในอีกแง่หนึ่งเลยก็ว่าได้
อยากให้บุคลากรภายในองค์กรมี Growth Mindsetต้องเริ่มพัฒนาจากอะไร
ในการพัฒนาคนในองค์กรให้มีกรอบความคิดแบบ Growth Mindset สามารถอาศัยการ Training ต่างๆ และประยุกต์ใช้ความรู้ตามหลักการของจิตวิทยาเชิงบวก เพื่อสร้างเสริมวิธีคิดและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้แต่ละคนเกิดความเข้าใจมองเห็นคุณค่าในตัวเอง โดยกระตุ้นวิธีคิดแบบเติบโตเช่นนี้ด้วยความรู้สึกเชิงบวก เพื่อให้เกิดความพร้อมที่จะพัฒนาตนเองให้เติบโตร่วมกันกับความก้าวหน้าขององค์กร ซึ่งการสร้างกรอบความคิดแบบ Growth Mindset หรือกรอบความคิดแบบเติบโตนั้น เราสามารถเริ่มต้นจากการกระทำง่ายๆที่เราอาจจะนึกไม่ถึง เช่น
1.ชื่นชมความพยายาม เนื่องจากส่วนใหญ่เวลาที่คนในองค์กรทำงานที่ได้รับมอบหมายสำเร็จ หลายครั้งก็มักจะไม่ได้รับคำชมอะไรกลับไป เพราะอาจมองว่าเป็นหน้าที่ แต่คนที่ทำงานก็ยังต้องการน้ำที่มาหล่อเลี้ยงกำลังใจพวกเขาเหมือนกัน การกระทำแบบนี้อาจทำให้วันหนึ่งพวกเขารู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งกับองค์กรอีกต่อไป จนส่งผลให้เกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายและประสิทธิภาพในการทำงานลดลงได้ เพราะฉะนั้นการที่จะพัฒนาคนในองค์กรให้มีกรอบความคิดแบบ Growth Mindset จึงควรเริ่มจากการชื่นชมความพยายามเป็นอันดับแรก เพื่อให้แต่ละคนนั้นเกิดความรู้สึกเชิงบวก ภูมิใจในงานและความสำเร็จที่ทำ และรับรู้ได้ว่ามีคนเห็นคุณค่าของพวกเขา ส่งผลให้แม้จะเป็นงานที่เล็กน้อยขนาดไหน พวกเขาก็จะพยายามและทุ่มเทให้กับงานนั้นๆแบบสุดความสามารถ
2.สร้างแรงจูงใจให้เกิดการพัฒนา การที่จะพัฒนาคนในองค์กรให้มีความคิดแบบ Growth Mindset จะต้องอาศัยการสร้างแรงจูงใจให้พวกเขารู้สึกอยากพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นด้วย ยิ่งมีความรู้สึกมุ่งมั่น กระตือรือร้นในการเรียนรู้มากเท่าไหร่ก็จะทำให้สามารถปรับเปลี่ยนวิธีคิดและพฤติกรรมได้ง่าย ซึ่งส่งผลดีต่อองค์กรมากๆ โดยอาจจะเริ่มจากการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ มีการจัดให้ความรู้พิเศษในเนื้อหาที่น่าสนใจ มีรางวัลตอบแทนสำหรับผู้ที่เรียนรู้และนำความรู้ไปต่อยอดหรือประยุกต์กับการทำงานแล้วได้ผลดี สร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ (Learning Culture) และการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง (Continuous Improvement) ยิ่งหากองค์กรไม่ได้จำกัดว่าสิ่งที่เรียนรู้จะต้องนำไปใช้กับงานเท่านั้น แต่สามารถนำไปพัฒนาและบริหารชีวิตในแง่มุมต่างๆ ได้ ความรู้และทักษะใหม่ๆ ที่ได้เรียนรู้มาก็จะถูกนำไปปรับใช้ได้ง่ายและหลากหลายแง่มุมมากขึ้น การเรียนรู้และพัฒนาก็จะเป็นวิธีการที่คนในองค์กรคุ้นชิน ซึมซับและปรับใช้ ซึ่งจะยิ่งกระตุ้นในการสร้างแรงจูงใจให้คนในองค์กรเกิดความรู้สึกชอบเรียนรู้และอยากพัฒนาตนเองได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนมากขึ้น
3.ส่งเสริมให้กล้าคิดนอกกรอบ ด้วยความที่หลายคนอาจจะเกิดความรู้สึกไม่มั่นใจ กลัวความล้มเหลว ทำให้เกิดความรู้สึกไม่กล้าเสนอไอเดียใหม่ๆ ในการประชุมงานแต่ละครั้ง ซึ่งถ้าหากยึดตามหลักการที่ช่วยให้เกิดความเป็นมิตรกับสมอง (Brain Friendly) และจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) แล้วเราควรทำให้ผู้ที่จะเสนอความคิดมีความรู้สึกปลอดภัยทางด้านจิตใจเสียก่อน และจะต้องทำให้คนในองค์กรเกิดความรู้สึกเชิงบวกกับการเสนอไอดียอย่างเปิดเผย โดยเริ่มต้นจากการรับฟังความคิดเห็นด้วยความจริงใจ แม้จะเป็นสิ่งที่แปลกใหม่ที่อาจดูเป็นไปไม่ได้ ก็อย่าเพิ่งด่วนไปตัดสิน ระมัดระวังในการใช้คำพูดด้านลบในการปฏิเสธไอเดียเหล่านั้น ให้ใช้คำพูดสร้างกำลังใจและขอบคุณในความพยายามแทน
ในปัจจุบันการพัฒนาคนในองค์กรให้มีกรอบความคิดแบบเติบโต หรือ Growth Mindset เป็นสิ่งที่จำเป็นและองค์กรต้องสร้างโอกาสในการพัฒนากรอบความคิดแบบเติบโตจากหลากหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นการฝึกอบรม จัดเวทีให้มีการแสดงออกถึงความคิดแบบเติบโตอย่างเป็นรูปธรรมและสร้างสรรค์ หัวหน้างานและผู้บริหารร่วมกันแสดงออกถึงพฤติกรรมในการสนับสนุนกรอบความคิดแบบเติบโต เช่นชื่นชมในความพยายามและให้โอกาสทีมงานในการทำสิ่งใหม่ๆ ภายใต้ความเสี่ยงที่ประเมินได้ (Calculated Risk) เป็นต้น
เมื่อคนในองค์กรเริ่มมีความคิดที่อยากจะพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นตามแนวคิดแบบ Growth Mindset วิธีคิดและพฤติกรรมก็จะค่อยๆ เปลี่ยนไปในทางที่พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพควบคู่ไปกับการเรียนรู้และพัฒนาตนเองให้มีความสามารถต่อไป