Last updated: 23 มี.ค. 2566 | 957 จำนวนผู้เข้าชม |
“คุณหัวเราะออกมาดัง ๆ ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่คะ”
บางคนอาจจะตอบว่าเมื่อวานนี้ หรือ อาทิตย์ที่แล้ว และอาจมีบางคนที่แอบตอบในใจว่า “จำไม่ได้”
การที่เราได้หัวเราะออกมาดังๆ นอกจากมันจะช่วยเราในเรื่องการผ่อนคลายความเครียด (Stress Management) เพื่อลดอาการเหนื่อยล้าจากการทำงานแล้ว การหัวเราะเพื่อสร้างอารมณ์และพลังงานที่ดียังเป็นเกราะป้องกันตัวเราจากอาการ Burn Out ถือเป็นวิตามินที่มาช่วยเสริม และสร้างแรงกระตุ้น (Motivation) ให้กับตัวเองและกับทีมงาน
ช่วยให้เรามีความสามารถในการฟื้นตัวหรือ Resilience ได้ดีขึ้น
แถมยังเป็นเทคนิคที่ช่วยสร้างพลังเชิงบวก (Positive Energy) และเป็นมิตรกับสมองอีกด้วย (Brain Friendly)
การที่เราได้ปล่อยให้ตัวเอง หัวเราะแบบอ้าปากกว้างๆ และไม่สนใจว่าใครจะมาเห็นตาหยี๋ หรือจำนวนเส้นของริ้วรอยรอบดวงตาของเรานั้นจริงๆ แล้วมีประโยชน์กว่าที่เราคิด การหัวเราะจากเรื่องขำขันที่บางคนอาจมองว่าไร้สาระ จริงๆ แล้วเป็นเทคนิคที่ดีในการสร้างความสุขที่มีผลเป็นมิตรกับสมองของเราโดยตรง (Brain Friendly) นั่นคือ การหัวเราะจะช่วยปล่อยสารเอ็นโดรฟิน (Endrophin) ซึ่งเป็นสารแห่งความสุขชนิดหนึ่ง ถึงขั้นที่ว่า กูรูทางด้านจิตวิทยาและสมองบางท่านได้นำเอาหลักการเรื่องการหัวเราะนี้มาเป็นอีกหนึ่ง Exercise หรืออีกหนึ่งเทคนิคในการสร้างความสุขในชีวิตกันเลยทีเดียว
นอกจากนี้ การหัวเราะยังช่วยลดความกลัว และสร้างความรู้สึกผ่อนคลายทางด้านจิตใจให้กับเราได้ด้วย ลองนึกถึงเหตุการณ์ที่สร้างความตื่นเต้น กังวลใจ ให้กับเรา เช่นการที่เราต้อง Present ผลงานทั้งปีให้กับผู้บริหารระดับสูงฟัง เราเตรียมตัวรวบรวมข้อมูลมาอย่างดี ใช้เวลาในการทำ Presentation มาทั้งอาทิตย์ และเมื่อวันที่ต้องประชุมมาถึง ก่อนเริ่ม Session เรารู้สึกกังวลใจ หัวใจเริ่มเต้นแรง สมาธิไม่อยู่กับเนื้อกับตัว กลัวนู่นกลัวนี่ กังวลว่าจะลืมเนื้อหาในการ Present บ้าง กลัวว่าจะตอบคำถามที่มาจากผู้บริหารระดับสูงไม่ได้บ้าง เราวาดภาพถึงบรรยากาศอึมครึมในที่ประชุมคล้ายกับการเข้าห้องเย็น คิดแค่นี้เราก็รู้สึกเย็นวาบไปทั้งหลังแล้ว
แต่พอเริ่ม Session จริงกลับมีผู้บริหารท่านหนึ่งที่เป็นคนร่าเริง ปล่อยมุกตลกทำให้ผู้ร่วมประชุมทุกคนหัวเราะด้วยความขบขัน เฮฮา บรรยากาศที่เราเคยจินตนาการถึงกลับกลายเป็นความเป็นกันเองและความปลอดภัย (Psychological Safety) และตัวเราเองก็เกือบลืมความกลัวและความตื่นเต้นนั้นไปเลย หรืออย่างน้อยมันก็ลดลงไปอย่างไม่น่าเชื่อ และเมื่อเรารู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น เราก็จะมีสมาธิ และสามารถโฟกัสกับสิ่งที่เราเตรียมตัวมาได้ดีขึ้น
ดังนั้นถ้าหากมีใครมาหยอกล้อ ปล่อยมุกกับเราก่อนการประชุมที่ซีเรียสหรือในระหว่างการทำงานที่เครียดๆ อยู่ แทนที่เราจะทำหน้ายักษ์ใส่แล้วหันกลับไปบอกว่า “ไม่ตลก” หรือ “มันใช่เวลามั้ย” เราควรคว้าโอกาสนี้ในการหัวเราะไปกับมุกของเพื่อน เพราะนี่คือโอกาสในการ trigger สารเอ็นโดรฟิน (Endrophin) หรือสารแห่งความสุขชนิดหนึ่งที่เรามักได้รับหลังจากการออกกำลังกาย แบบที่ใคร ๆ หลายคนมักบอกว่า ออกกำลังกายแล้วทำให้พวกเขารู้สึก “ฟิน” หรือ Happy นี่เอง
โดยร่างกายของคนเราจะมีการหลั่งสารเอ็นโดรฟิน (Endorphin) ซึ่งผลิตจากต่อมใต้สมองออกมาเมื่อเรามีความรู้สึกผ่อนคลาย ไม่ตึงเครียด นอกจากนี้สารเอ็นโดรฟิน (Endrophin) ยังจะเป็นสารที่ร่างกายหลั่งออกมาเพื่อช่วยบรรเทาความเจ็บปวดอีกด้วย ซึ่งสารนี่จะทำปฏิกิริยากับหน่วยรับความรู้สึกในสมอง และส่งผลให้ร่างกายมีความเจ็บปวดที่น้อยลง และความเจ็บปวดนี้เป็นไปได้ทั้งทางด้านร่างกาย และทางด้านจิตใจ
ในการใช้ชีวิตและการทำงานยุคปัจจุบัน เราอาจไม่ได้พูดถึงเรื่อง “ความเจ็บปวด” เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความเจ็บปวดทางด้านร่างกาย หรือ Physical Pain เพราะในชีวิตจริง โดยฉพาะอย่างยิ่งในแง่มุมของการทำงานในองค์กร เราอาจพบ Physical Pain ได้น้อยกว่า Psychological Pain หรือความเจ็บปวดทางด้านจิตใจเป็นอย่างมาก เพราะความเจ็บปวดทางด้านจิตใจอาจเกิดขึ้นได้เสมอ ๆ จากการทำงานร่วมกันกับผู้อื่น การสื่อสารหรือมีปฏิสัมพันธ์กัน ซึ่งสาเหตุที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดทางด้านจิตใจอาจจะเป็นสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เรานึกไม่ถึงหรือมองข้ามไป ยกตัวอย่างเช่น การถกเถียงและหักหน้ากันในที่ประชุม การให้ฟีดแบ็คอย่างตรงไปตรงมาโดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของอีกฝ่าย การกดดันเพื่อให้ได้ผลงานและใช้คำพูดที่ไม่รักษาน้ำใจ เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้เองจะสร้างอารมณ์ความรู้สึกเชิงลบหรือ (Negative Feeling) ให้อีกฝ่าย อาจทำให้เขาเหล่านั้นเกิดความโกรธ เสียใจ หรือน้อยใจและก่อตัวเป็นความเจ็บปวดทางด้านจิตใจ หรือ Psychological Pain และจากสถานการณ์หรือตัวอย่างในที่ทำงานที่ยกมาก่อนหน้านี้ นอกจากหลาย ๆ คนอาจจะมองข้ามและไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้แล้ว บางคนอาจจะมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติในบริบทของการทำงานเสียด้วยซ้ำ และถ้าหากเรารู้แล้วว่า การสร้างเสียงหัวเราะมีพลังในการช่วยลดความเครียดและความเจ็บปวดทางด้านจิตใจ เราก็สามารถนำเอาหลักการนี้มาประยุกต์ใช้ได้ในการ Heal ใจตัวเอง (การรักษาใจตัวเอง) และการ Heal ใจผู้อื่น (การรักษาใจผู้อื่น)
การ Heal ใจตัวเองทำได้ไม่ยาก โดยหลังจบวันทำงานที่ท้าทายและรีบเร่ง แทนที่เราจะเลือกอ่านหรือเสพข่าวที่น่าเศร้าหรือหดหู่ใจ หรืออ่าน Content ที่เคร่งเครียด เราอาจจะลองเปลี่ยนมาเป็นการเสพสื่อหรือดูวีดีโอตลก ๆ ที่ดูเหมือนไร้สาระ แต่ช่วยให้เราหัวเราะดังลั่นได้ สิ่งที่ช่วยให้เราหัวเราะและผ่อนคลายอาจจะไม่ได้มาจากสื่อเพียงอย่างเดียว แต่อาจจะมาจากสิ่งรอบตัว ลองสังเกตดูว่ามีสิ่งใดที่จะช่วยสร้างเสียงหัวเราะและรอยยิ้มให้กับเราหลังจบงานได้บ้าง เช่น บางคนอาจจะหัวเราะขำไปกับท่าทางของสัตว์เลี้ยงตัวเอง เป็นต้น
นอกจากนี้เราอาจจะใช้การหยอกล้อหรือปล่อยมุกเบาๆ เพื่อเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับผู้อื่นและเป็นการลดความตึงเครียดของสถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้าได้ แต่ก็ต้องระมัดระวังว่า การปล่อยมุกตลกของเราจะไม่ใช่การล้อเลียนผู้อื่น หรือหยิบข้อบกพร่องของผู้อื่นมาล้อเลียนหรือสร้างความขบขัน เพราะนั่นอาจจะเป็นการสร้างความเจ็บปวดทางด้านจิตใจให้กับผู้ที่ถูกล้อเลียนโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ
เราอาจจะเคยเห็นผู้บริหารบางคนที่มีทักษะในการสื่อสารและบริหารคนได้อย่างดีเยี่ยม รู้ว่าจังหวะไหนต้องจริงจัง หรือสถานการณ์ไหนต้องสร้างบรรยากาศผ่อนคลายให้คนอื่นได้ยิ้มหรือหัวเราะ การปล่อยมุกตลกและสร้างเสียงหัวเราะจะทำให้ผู้บริหารท่านนั้นได้รับการมองว่ามีความเป็นมิตร เข้าถึงง่าย และเป็นกันเอง ได้รับการยอมรับและความร่วมมือจากผู้อื่นได้เป็นอย่างดี การที่ผู้บริหารมีภาพลักษณ์ว่าเป็นมิตร (Friendly) และ เข้าถึงง่าย (Approachable) นั้นจะทำให้ผู้บริหารเป็นคนที่ได้รับความไว้ใจจากคนในทีม ทำให้พวกเขาเหล่านั้นรู้สึกเปิดใจและสบายใจในการให้ข้อมูลที่จริงใจและตรงไปตรงมา มากกว่าผู้บริหารบางท่านที่มีภาพลักษณ์เคร่งขรึมและซีเรียสมากกว่า
ตอนนี้เราก็พอจะเข้าใจแล้วนะคะว่าเรื่องขำขันและเสียงหัวเราะไม่ใช่เป็นแค่เรื่องตลกไร้สาระเพียงอย่างเดียว แต่เราสามารถนำเอาสาระของเรื่องตลกและการสร้างเสียงหัวเราะมาช่วยสร้างความสุข ความเป็นผู้นำ ดูแลจิตใจตัวเองและผู้อื่นได้เป็นอย่างดี ถ้ามีโอกาสหัวเราะครั้งหน้าก็อย่าลืมทำตาหยี่ ยิ้มกว้างๆ และใช้โอกาสนั้นขำกันให้เต็มที่นะคะ
เพราะการหัวเราะวันละนิด ทำให้ “จิต” แจ่มใสได้จริงๆค่ะ
11 มิ.ย. 2567